อากาศสะอาดสำหรับทุกคน

Last updated: 24 ม.ค. 2567  | 

อากาศสะอาดสำหรับทุกคน

#เวิลด์วิวเล่าเรื่อง
อากาศสะอาดสำหรับทุกคน

จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยจากฝุ่นจากมลพิษทางอากาศ มากถึง 11 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 16 ของจำนวนประชากรประเทศไทย (ธันวาคม พ.ศ.2566)

ฝุ่นมลพิษทางอากาศกระจายไปเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 โดยส่วนใหญ่แล้วมลพิษทางอากาศเกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ การเผาจากการทำเกษตร จากอุตสาหกรรม ไฟป่า และหมอกควันข้ามพรมแดน 

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ
ในต่างประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เยอรมัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็มีปัญหาจากฝุ่นมลพิษจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม จนกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก แต่เขาได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ โดยอย่างสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการจัดการมลพิษทางอากาศได้ ผ่าน Clean Air Act of 1970 (CAA) หรือ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ปี 1970 (พ.ศ.2513) ด้วยการออกกฎระเบียบควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น รวมถึงโครงการแบบสมัครใจ และควบคุมเข้มข้นสำหรับพื้นที่มลพิษทางอากาศสูง นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาฐานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด ที่สำคัญคือการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยเมื่อปี พ.ศ.2563 พ.ร.บ. อากาศสะอาดของสหรัฐฯ มีอายุครบ 50 ปีแล้ว! 

ในหลายปีที่ผ่านมานี้เองประเทศไทยก็ได้มีความพยายามที่จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เข้าสู่รัฐสภา เพื่อให้ปัญหาฝุ่นมลพิษได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหลักการสำคัญอยู่ที่การมี “สิทธิที่จะหายใจจากอากาศสะอาดในฐานะสิทธิมนุษยชน”
ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ทั้งหมด 7 ร่าง จากประชาชนและพรรคการเมือง ได้ผ่านวาระแรกในการรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา

ในส่วนหนึ่งในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ร่างนั้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรการและการบังคับใช้ทางกฎหมาย การตรวจตราเฝ้าระวังและผลกระทบต่อสุขภาพ การรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ ตลอดจนการประเมินแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศทั้งในและนอกประเทศ ฯลฯ  ล้วนแต่เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยควบคุมและแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษในประเทศไทยทั้งสิ้น แต่ยังต้องผ่านการพิจารณาความเหมาะสม

อีกหลายขั้นตอนกว่าจะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ พวกเราเองก็ต้องคอยจับตาดูเพื่อให้ได้ฉบับที่ดีที่สุด เพื่ออากาศสะอาดของเรา

ไม่ว่าในอนาคต พ.ร.บ. อากาศสะอาด ของประเทศไทยจะได้นำมาบังคับใช้เมื่อไหร่ แต่แน่นอนว่าอากาศสะอาดที่ปราศจากฝุ่นมลพิษ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพและสุขภาพที่ดีของมนุษย์ทุกคน ซึ่งจะเกิดได้จากการร่วมมือกันอย่างแข็งขันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน ในการขับเคลื่อนกลไลต่างๆ เพราะพวกเราทุกคนมีลมหายใจเดียวกัน

ในช่วงนี้ปัญหาฝุ่นค่อนข้างหนักมาก หากต้องออกจากบ้านอย่าลืมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่นกันด้วยนะคะ

ที่มา
https://ilaw.or.th/node/5834
https://littlebiggreen.co/blog/clean-air-act
https://hdcservice.moph.go.th/hdc/reports/page.php?cat_id=9c647c1f31ac73f4396c2cf987e7448
https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/displayData
https://www.sdgmove.com/2021/04/06/50th-anniversary-of-usa-clean-air-act-of-1970/
https://nida.ac.th/research/clean-air-laws-from-usa/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้