Carbon foot(ball)print: Stadium 974 สนามกีฬาบอลโลกจากตู้คอนเทนเนอร์

Last updated: 5 พ.ค. 2566  | 

Carbon foot(ball)print: Stadium 974 สนามกีฬาบอลโลกจากตู้คอนเทนเนอร์

Stadium 974 สนามกีฬาชั่วคราว (temporary stadium) ในประเทศกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ที่สร้างจากการประกอบตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 974 ตู้ ไม่เว้นแม้แต่ลิฟต์ ห้องน้ำ หรือตู้ VIP ในสนาม! แถมอาศัยการไหลเวียนของลมริมชายฝั่งแทนการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ มาพร้อมกับเก้าอี้ที่สามารถถอดออกเพื่อลดจำนวนความจุที่นั่งได้ ซึ่งถือเป็นตัวชูโรงของนโยบายความยั่งยืนและคาร์บอนต่ำของฟุตบอลโลก 2022 เลยทีเดียว นับเป็นก้าวที่น่าชื่นชม (แม้ว่าเจ้าภาพบอลโลกปีก่อน ๆ เคยทำมาแล้วก็ตาม เช่น รัสเซีย เคยใช้เก้าอี้ถอดได้เช่นกัน) ไม่เพียงแค่นั้น ปีนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ทั้งสนามไม่ใช่แค่เก้าอี้ ซึ่งจากบทวิเคราะห์ของ Carbon Market Watch ให้ความเห็นว่าด้วยหลักการนี้ ทำให้มีข้อดีหลายอย่าง

ข้อแรก เมื่อเรามีสนามที่สามารถเคลื่อนย้ายและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ในอนาคตก็อาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างสนามกีฬาใหม่ทุกครั้ง ซึ่งอาจช่วยลดงบประมาณ ลดการใช้แรงงาน และลดการปล่อยคาร์บอนที่จะเกิดจากการก่อสร้างได้ในอนาคต 

ข้อที่สอง เป็นไปได้ว่าต่อไป ก็สามารถจะเลือกตั้งสนามกีฬาในพื้นที่ใกล้เมือง ที่ง่ายต่อการเดินทางของแฟน ๆ ผู้มาชมและหวังว่าจะช่วยลดการจราจรที่ติดขัดลงได้

ข้อที่สาม เพิ่มโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกหรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ได้ในอนาคต โดยอาจใช้วิธีแบ่งส่วนรับผิดชอบต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างสนามกีฬาชั่วคราวแบบถอดได้นี้ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ที่จะจัดงานในปีต่าง ๆ ได้

ถึงอย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัดเลย

คาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง Stadium 974 ในช่วงต้นนั้น สูงกว่าการสร้างสนามกีฬาแบบปกติ ถึง 60 % เพราะต้องใช้วัสดุที่ทนทานพอสำหรับการถอด เคลื่อนย้าย และประกอบใหม่ซ้ำ ๆ แต่เมื่อคำนึงถึงการใช้งานครั้งต่อไปที่ไม่ต้องสร้างใหม่ เลยทำให้เมื่อคำนวณโดยรวมแล้ว สนามกีฬาชั่วคราวนี้จะก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยกว่าการสร้างสนามกีฬาแบบถาวรขึ้นใหม่เรื่อย ๆ แต่ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ในสถานการณ์จำลองการรียูสสนามกีฬา จะมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางที่ใช้ขนส่งและจำนวนครั้งที่จะถูกใช้ โดยเฉพาะถ้าต้องขนส่งในระยะทางที่ไกลเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสนามถูกเคลื่อนย้ายไปใช้ในพื้นที่ที่มีระยะทางห่างไปจากที่แรก (ในที่นี้คือประเทศกาตาร์) มากกว่า 7,033 กิโลเมตร และถูกใช้ซ้ำเพียงหนึ่งครั้ง การสร้างสนามกีฬาแบบถาวรขึ้นมาใหม่อาจจะก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่น้อยกว่าการเคลื่อนย้ายสนามก็เป็นได้ 

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสนามแบบชั่วคราวจะต่ำกว่าการสร้างสนามถาวรใหม่ ตราบใดที่ระยะทางที่ใช้เคลื่อนย้ายสนามแบบชั่วคราว ต่ำกว่า 7,033 กิโลเมตร สำหรับการใช้สนามซ้ำหนึ่งครั้ง (one-time reuse) และ ต่ำกว่า 40,118 กิโลเมตร และ 72,616 กิโลเมตร สำหรับกรณีการใช้ซ้ำสองและสามครั้งตามลำดับ 

คำถามสำคัญคือ จะมีการนำสนามชั่วคราวนี้กลับมาใช้ใหม่หรือไม่ และจะถูกใช้อย่างไร ถึงแม้ผู้จัดจะชูจุดเด่นเรื่องฟังก์ชันที่สามารถถอดประกอบเคลื่อนย้ายได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบแผนงานที่ชัดเจนที่แสดงว่าสนามกีฬาจะถูกย้ายไปที่ใด หรือจะมีแผนการย้ายครั้งต่อไปเมื่อไหร่ 

ซึ่งแน่นอนว่ากีฬานั้นสำคัญ แถมยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่การตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของเราก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งสุดท้ายแล้วเราเองก็ต้องเผชิญหน้ากับผลที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

คงจะดีไม่น้อยเลยน้าาถ้าเราสามารถดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยที่ยังคงมีพื้นที่ให้กับความรื่นเริงในการดำเนินชีวิตไปพร้อมกันได้อย่างสมดุล




อ้างอิง
Greenhouse Gas Emission Analysis of a Demountable FIFA World Cup Stadium (FIFA World Cup 2022)
Poor tackling: Yellow card for 2022 FIFA World Cup’s carbon neutrality claim
The World Cup In Qatar Is a Climate Catastrophe
FIFA World Cup’s first ever detachable stadium built by Chinese companies

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้